วันที่ 26 กรกฎาคม 2567 
มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์และปศุสัตว์จังหวัดอุตรดิตถ์ จัดโครงการมอบกรรมสิทธิ์และไถ่ชีวิตโค-กระบือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ   ณ  มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ (ทุ่งกะโล่) จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยได้รับเกียรติจาก นายสหวิช อภิชัยวิศรุตกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นประธานในพิธี กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ โดย นายชัยนาท  แสนยศ ปศุสัตว์จังหวัดอุตรดิตถ์ และกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงานโดย รศ.ดร.สุภาวิณี สัตยาภรณ์ อธิการบดี มีกิจกรรมดำเนินการ 2  กิจกรรม ประกอบด้วย  1. การมอบกรรมสิทธิ์โค-กระบือแก่เกษตรกร ที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของโครงการธนาคารโค-กระบือ ตามพระราชดำริซึ่งจังหวัดอุตรดิตถ์มีเกษตรกรที่ได้รับมอบกรรมสิทธิ์โค-กระบือจำนวน ๑๒๗  ราย 2.  การไถ่ชีวิตโค-กระบือ เพศเมีย จำนวน  75 ตัว และลูกโค-กระบือ จำนวน 14 ตัว รวม  89 ตัว โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอุตรดิตถ์จะนำไปให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรภายใต้ระเบียบและหลักเกณฑ์ของโครงการธนาคาร โค-กระบือเพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริและการไถ่ชีวิตโค-กระบือ จำนวน 56 ตัวเพื่อส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อ รวม 2 โครงการ  โค-กระบือ รวมทั้งสิ้น จำนวน  145  ตัว ซึ่งจะทำให้เกษตรกรที่ได้รับมอบโค-กระบือในวันนี้มีอาชีพและ มีรายได้ที่มั่นคงต่อไป โครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริเป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ซึ่งกรมปศุสัตว์รับสนองพระราชดำริดำเนินการมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2522  เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีโค-กระบือไว้ใช้แรงงานและเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรจากการดำเนินงานที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรไปแล้วไม่น้อยกว่า  375,564 ราย  และมีการมอบกรรมสิทธิ์ โค-กระบือให้แก่เกษตรกรไปแล้วไม่น้อยกว่า 134,430 ราย คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,800 ล้านบาท  และยังมีเกษตรกรอยู่ในความดูแลของโครงการกว่า 116,907 ราย จำนวนโค-กระบือ 133,421 ตัว โครงการธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริถือได้ว่าเป็นโครงการที่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรโดยการน้อมนำหลักปรัชญา ของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการดำเนินงานกอปรกับมีการทำงานบูรณาการร่วมกันในพื้นที่อย่างเป็นระบบสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มของเกษตรกรและให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารโครงการเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง/ตลอดจนมีการต่อยอดการใช้ประโยชน์ เช่นการใช้มูลสัตว์เป็นปุ๋ยในไร่นาการทำแก๊สชีวภาพการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีในท้องถิ่นเป็นต้น สำหรับจังหวัดอุตรดิตถ์ปัจจุบันในโครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริ  มีโค-กระบือ รวมทั้งสิ้น  216  ตัวและเกษตรกรที่ได้รับความช่วยเหลือตามโครงการฯ  จำนวน 244 ราย ทำให้เกษตรกรมีรายได้และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ภาพ/ข่าว PR URU