วันที่ 10 กรกฎาคม 2567 
หน่วยอนามัยและพยาบาล งานบริการและสวัสดิการนักศึกษา กองพัฒนานักศึกษา จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างทักษะการให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพใจภายใต้โครงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติด ในสถานศึกษา ณ ห้องประชุมวงศ์วรกุล ชั้น 5  คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.ชิชญาสุ์ ช่างเรียน รองอธิการบดี เป็นประธานในการเปิดโครงการ ซึ่งในปัจจุบันจะเห็นว่าผู้ป่วยที่เจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆนั้นมีจำนวนมากขึ้น ไม่ว่าจะเจ็บป่วย ด้วยโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคมะเร็ง ฯลฯ หรือการป่วยด้วยภาวะความเครียด ภาวะหมดไฟ ภาวะซึมเศร้า อาจมีสาเหตุจากปัญหาของบุคคล ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต เป็นอย่างมาก จากสถิติภาวะความเครียด ภาวะซึมเศร้า ภาวะเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย พบว่าคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 15 ล้านคน โดยผู้ป่วยจำนวน 100 คน สามารถเข้าถึงการรักษาเพียง 28 คนเท่านั้น และทำให้คนไทยกว่า 70 เปอร์ซ็นต์ เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ช่วงปีที่ผ่านมาคนไทยพยายามฆ่าตัวตาย เฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน หรือทั้งปีมากกว่า 53,000 คนและเสียชีวิตราว 4,000 คน ถือเป็นสาเหตุการตาย
อันดับต้นๆของไทย สำหรับพ.ศ. 2567 มีผู้ข้ารับการประเมินเกี่ยวกับสุขภาพใจ จำนวน 7.5 แสนคน และพบผู้มีความเครียดสูงถึงร้อยละ 15.5 เสี่ยงซึมเศร้าร้อยละ 17.2 และเสี่ยงฆ่าตัวตายร้อยละ 10.6 (27 พ.ค. 2567) อิงข้อมูลของกรมสุขภาพจิตหน่วยอนามัยและพยาบาล งานบริการและสวัสดิการนักศึกษา กองพัฒนานักศึกษา จึงจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น ตามนโยบายของมหาวิทยาลัย ซึ่งการการจัดกิจกรรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้นักศึกษาแกนนำเกิดความรู้ความเข้าใจการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพใจที่ถูกต้องและสร้างทักษะการให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพใจและสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง รวมถึงลดภาวะเสี่ยงต่อการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานศึกษาโดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือแกนนำนักศึกษา จำนวน 8 คณะ จำนวนทั้งสิ้น 50 คน ซึ่งจะได้รับความรู้ด้านทักษะพื้นฐานการให้การปรึกษา การสร้างสัมพันธภาพและตกลงบริการ และสามารถนำทักษะความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันต่อการช่วยเหลือเพื่อนหรือคนรอบข้างได้อย่างถูกต้อง ตามกระบวนการการช่วยเหลือเบื้องต้น ต่อไป
ภาพ/ข่าว PR URU